P T IMAGE

ASST.PROF.PHORRAMATPANYAPRAT  TONGPRASONG, PhD, FHEA UKPSF

ปรมัตถ์ปัญปรัชญ์ ต้องปรสงค์. (2567). การบริหารการศึกษา: ความหมาย ความสำคัญ และทฤษฎี, From https://musterverse.dusit.ac.th/wisdom/theory/edu

ปรมัตถ์ปัญปรัชญ์ ต้องประสงค์. (2567). รูปแบบการบริหารการพัฒนาการทำงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกับการทำงานอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์.  วิทยานิพนธ์ การศึกษาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยพะเยา.

WEBSITE >> MUSTLAND.ORG ...

XXXXXXXXXXXXX

.
การบริหารการศึกษา: ความหมาย ความสำคัญ และทฤษฎี

XXXXXXXXXXXXX

การบริหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การบริหารเป็นสาขาวิชาที่มีการจัดการอย่างมีระเบียบที่เป็นระบบ ประยุกต์หลักการและทฤษฎีไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยจึงนำเสนอ ความหมาย และความสำคัญของการบริหารการศึกษา ดังนี้

1. ความหมายของการบริหารการศึกษา

 การนิยามความหมายการบริหารการศึกษาจากหน่วยงาน องค์การ และนักวิชาการได้นำเสนอพอสังเขป เช่น ชาญชัย อาจินสมาจาร (2552, หน้า 6) อธิบายว่า

การบริหารการศึกษาหมายถึง ความพยายามจะสั่งการ แนะนำ และผสมผสานความพยายามของมนุษย์ ซึ่งมีจุดรวมอยู่ที่จุดหมายปลายทาง หรือเป้าหมายบางอย่าง การบริหารเป็นกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในองค์การ ซึ่งมีหน้าที่สั่งการ อำนวยการให้ความสะดวกในการทำงานของกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ขณะที่ ธีระ รุญเจริญ (2553, หน้า 31) อธิบายว่า การบริหารการศึกษา หมายถึง การดำเนินงานด้วยกระบวนการที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทุกด้านจนบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคม ให้ดำรงชีวิตในสังคมเป็นไปด้วยความสงบสุข และยังมี จิตรจรูญ ทรงวิทยา (2561, หน้า 54) ที่ให้ความหมายการบริหารสถานศึกษา ว่าเป็นการดำเนินงานทุกอย่างในโรงเรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายการศึกษาหรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร คือ ให้นักเรียนมีสุขภาพดี มีคุณธรรมและเป็นพลเมืองที่ดี ให้สามารถใช้ประโยชน์ของวิชาที่เรียน มีความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมตามขอบข่ายและภารกิจการบริหารจัดการสถานศึกษา จากแนวทางปฏิรูปการศึกษา แสดงผลทำให้งานของผู้บริหารสถานศึกษาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ขอบข่ายภารกิจการบริหารและจัดการสถานศึกษา ประกอบด้วย 4 งาน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546, หน้า 32) ได้แก่ (1) การบริหารวิชาการ (2) การบริหารงบประมาณ (3) การบริหารงานบุคคล และ (4) การบริหารทั่วไป นอกจากนี้สมาคมผู้บริหารโรงเรียนแห่งสหรัฐอเมริกา (American Association of School Administration: AASA) ได้กำหนดการบริหารการศึกษาไว้ 5 ขั้นตอน ที่สอดคล้องกับความหมายได้แก่ (1) การวางแผน (Planning) (2) การจัดสรรทรัพยากร (Allocating Resources) (3) การกระตุ้น (Stimulating) (4) การประสานงาน (Coordinating)  และ (5) การประเมินผล (Evaluating) ที่มีส่วนสัมพันธ์กับหลักคิดของ Gulick and Urwick (Gulick, 1937 as cited in Marijani, 2018, p. 100) เสนอแนวคิดภาระหน้าที่ที่สำคัญของนักบริหาร POSDCoRB ในบทความ Paper on The Science of Administration: Notes on The Theory of Organization ประกอบไปด้วย 7 ประการ ได้แก่ (1) P-Planning (2) O-Organizing (3) S-Staffing (4) D-Directing (5) Co-Coordinating (6) R-Reporting และ (7) B-Budgeting และยังมีปัจจัยสคัญการจัดการทรัพยากรในการบริหาร 4 อย่าง (Drucker, 1963 as cited in Hussain, HAQUE, and Baloch, 2019, pp. 156-169)  ที่เรียกว่า 4Ms ได้แก่ (1) คน (Man) (2) เงิน (Money) (3) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ (4) วิธีการ (Method) การบริหารการศึกษาจึงเป็นสาขาวิชาที่แสดงการจัดการอย่างเป็นระบบ และหลักการที่ถูกต้อง ชัดเจน มุ่งเน้นความสำเร็จด้วยหลักคุณภาพ

ขณะที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (2561, หน้า 3-6) นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการศึกษาของประเทศไทยไว้ว่า บริบทของประเทศและโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แหล่งความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ทำให้เกิดทางเลือก ความสามารถและสมรรถนะในการเลือกเรียนรู้สิ่งใหม่และการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดโครงสร้างองค์การที่เอื้อต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู และอาจารย์ สัมพันธ์กับที่ เกษม วัฒนชัย (2546, หน้า 2)เคยได้กล่าวสรุปว่า การบริหารการศึกษาเป็นระบบการบริหารการออกแบบและจัดระบบการศึกษาทั้งระบบความคิดที่รวมถึงการนำทรัพยากรไปบริหารให้เกิดผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ดี บรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษา

สรุปได้ว่า การบริหารการศึกษา หมายถึง กระบวนการหรือกิจกรรมที่บุคคลร่วมมือกันดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์จากการประสานความร่วมมือ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ด้วยแผนกลยุทธ์ให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ โดยอาศัยปัจจัยสคัญในการบริหาร 4 ประการ ที่เรียกว่า 4Ms ได้แก่ (1) คน (Man) (2) เงิน (Money) (3) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ (4) วิธีการ (Method)

2.  ความสำคัญของการบริหารการศึกษา

การจัดการศึกษามีบทบาทเป็นภารกิจที่สร้างสรรค์ กล่าวคือ จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนในชาติด้วยกระบวนการบริหารจัดการที่ดี แสดงกลไกของการพัฒนาที่สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทรัพยากรบุคคลที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกองค์การ (สุรศักดิ์ ปาเฮ, 2543, หน้า 7) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา, 2545, หน้า 4) กล่าวว่า ในมาตรา 6 กำหนดความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ดังนั้น การบริหารการศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคนไทยให้บรรลุความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาของประเทศ ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการ (2552, หน้า 30-32)กล่าวว่า การบริหารจัดการของสถานศึกษามีหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนและเป็นสถานศึกษาของรัฐ จึงได้นำหลักการว่าด้วยการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีซึ่งอาจเรียกโดยทั่วไปว่าธรรมภิบาลมาบูรณาการและจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนซึ่งเป็นนิติบุคคล หลักการดังกล่าว ได้แก่ (1) หลักนิติธรรม (2) หลักคุณธรรม (3) หลักความโปร่งใส (4) หลักการมีส่วนร่วม (5) หลักความรับผิดชอบ และ (6) หลักความคุ้มค่า โดยมีผู้บริหารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการ
สรุปได้ว่า การบริหารการจัดการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภารกิจที่สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยหลักการบริหาร การจัดการที่เป็นระบบให้ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข จากการใช้ทรัพยากรทางการบริหารได้แก่ คน เงิน วัสดุ และวิธีการ อย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคลากรและองค์การ

3.  ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา

การบริหารการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลนั้นนอกจากแนวคิด หลักคิดแล้วยังมีทฤษฎีที่หลากหลาย สำหรับการบริหารได้ศึกษาสรุปโดยนำเสนอทฤษฎีการบริหารการศึกษาที่สำคัญได้มีการจัดการศึกษาและจากนักวิชาการ (ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ และวิบูลย์ โตวณะบุตร, 2542, หน้า 45; ประยูร ศรีประศาธน์, 2553, หน้า 30-45; วิโรจน์ สารรัตนะ, 2546, หน้า 14-23; อำนวย พลรักษา, 2556, หน้า 10-16) ผู้วิจัยจึงนำเสนอทฤษฎีการบริหารการศึกษาตามลำดับ พอสังเขป ดังนี้

3.1     การจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ของ Taylor (Scientific Management) ได้อธิบายความมุ่งหมายสูงสุดของแนวคิดเชิงการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์คือ การจัดการบริหารธุรกิจหรือโรงงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด Taylor (Taylor, 1914 as cited in Lewis, 2015, p. 125) ได้เสนอแนวคิดว่าคนงานแต่ละคนเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่สามารถปรับปรุงเพื่อเพิ่มผลผลิตขององค์การได้ เป็นเจ้าของคำกล่าวที่ว่า “The one best way” คือ ประสิทธิภาพของการทำงานสูงสุดจะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการสำคัญ 3 กระบวนการ ได้แก่ (1) เลือกคนที่แสดงความสามารถสูงสุด (Selection) (2) ฝึกอบรมคนงานให้ถูกวิธี (Training) และ (3) สิ่งจูงใจให้เกิดกำลังใจในการทำงาน (Motivation) และยังมีผลผลิตของยุคอุตสาหกรรมในงานวิจัยเรื่อง “Time and Motion Studies” เวลาและการเคลื่อนไหว เชื่อว่ามีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพียงวิธีเดียวที่ดีที่สุด จึงใช้วิธีแบ่งงานกันทำ ผู้ปฏิบัติระดับล่างต้องรับผิดชอบต่องานในระดับบน นอกจากนี้ Taylor นำเสนอระบบการจ้างงาน (จ่ายค่าจ้าง) บนพื้นฐานการสร้างแรงจูงใจ สรุปหลักวิทยาศาสตร์ของ Taylor ประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ (1) การแบ่งงาน (Division of Labors) (2) การควบคุมดูแลบังคับบัญชาตามสายงาน (Hierarchy) (3) การจ่ายค่าจ้างเพื่อสร้างแรงจูงใจ (Incentive Payment)
3.2  
ทฤษฎีบริหารองค์การอย่างเป็นทางการ (Formal Organization Theory) ของ Fayol (1949) ผู้เป็นบิดาของทฤษฎีการปฏิบัติการและการจัดการตามหลักบริหาร ทั้ง Fayol และ Taylor ที่มุ่งเน้นตัวบุคคลปฏิบัติงานร่วมกับวิธีการทำงานได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลแต่ก็ยังไม่มีมุมมองด้าน “จิตวิทยา” (Fayol, 1949 as cited in Godwin, et al., 2017, p. 82) ซึ่งมีแนวคิดในเรื่องหลักการเกี่ยวกับการบริหารทั่วไปไว้ 14 ประการ แต่แสดงลักษณะที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ (1) หลักการทำงานเฉพาะทาง (2) หลักสายบังคับบัญชา (3) หลักเอกภาพของการบังคับบัญชา (4) หลักขอบข่ายของการควบคุมดูแล (5) การสื่อสารแนวดิ่ง (6) หลักการแบ่งระดับการบังคับบัญชาให้น้อยที่สุด และ (7) หลักการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างสายบังคับบัญชาและสายเสนาธิการ
3.3   ทฤษฎีบริหารองค์การในระบบราชการ (Bureaucracy) มาจากแนวคิดของ Weber  (Weber, 2000 as cited in Callison, 2022, p. 281) ที่อธิบายหลักการบริหารราชกาประกอบด้วย (1) หลักของฐานอำนาจจากกฎหมาย (2) การแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องยึดระเบียบกฎเกณฑ์ (3) การแบ่งงานตามความชำนาญการเฉพาะทาง (4) การแบ่งงานไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัว (5) แสดงระบบความมั่นคงในอาชีพ อย่างไรก็ตามระบบราชการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อเสียที่พบได้ชัด คือ สายบังคับบัญชามีหลายระดับชั้น การทำงานต้องอ้างอิงกฎระเบียบ จึงอาจล่าช้าไม่ทันการแก้ไขปัญหาได้ทัน เรียกว่า “ระบบ Red Tape” คือ ยึดประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก การบังคับบัญชา การเลื่อนขั้นตำแหน่งที่มีระบบเป็นไปตามกฎเกณฑ์ และระเบียบ แบบแผน
3.4    แนวคิดของ Follett อธิบายว่า “การเกิดความขัดแย้งในหน่วยงานเป็นความบกพร่องของการบริหาร” การวิจัยหรือการทดลองฮอร์ทอร์น (Hawthorn Experiment) โดย Mayo (Mayo, 1948 as cited in Pearson, 2021, p. 325) กับคณะทำการวิจัยเริ่มที่ข้อสมมติฐานว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนงาน สิ่งที่ได้ค้นพบจากการทดลองคือ การสร้างกลุ่มแบบไม่เป็นทางการในองค์การ ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ที่ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ มีความสำคัญมาก ซึ่งเป็นผลการศึกษาทดลองของ Mayo สรุปได้ว่า
(1) คนเป็นสิ่งมีชีวิต จิตใจ ขวัญ กำลังใจ และความพึงพอใจเป็นเรื่องสำคัญในการทำงาน (2) เงินไม่ใช่ สิ่งล่อใจที่สำคัญแต่เพียงอย่างเดียว รางวัลทางจิตใจมีผลต่อการจูงใจใน
การทำงานไม่น้อยกว่าเงิน (3) การทำงานขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมมากกว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ดังที่เคยได้มีคำกล่าวว่า “คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก” ต้นแบบการศึกษาเรื่อง Employee Motivation หรือ Theory of Motivation ได้กล่าวสรุปข้อคิดที่สำคัญ นั่นคือ การตอบสนองคนด้านความต้องการศักดิ์ศรี การยกย่องจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานจากแนวคิดกลุ่ม “มนุษยสัมพันธ์”
3.5   ทฤษฎีของ Barnard (Barnard, 1968 as cited in McNally, 2018, p. 167; Nikezić, Dželetović and Vučinić, 2016, p. 127) ผู้ประพันธ์หนังสือชื่อ “The Function of The Executive” ที่กล่าวถึงงานในหน้าที่ของผู้บริหารโดยให้ความสำคัญต่อบุคคล ระบบของความร่วมมือองค์การ และเป้าหมายขององค์การกับความต้องการของบุคคลในองค์การต้องสมดุลกัน และยังมีทฤษฎีของ Maslow (Maslow, as cited in McLeod, 2007, p. 741; Acevedo, 2018, p. 2-3) ว่าด้วยการจัดอันดับขั้นของความต้องการของมนุษย์ (Maslow– Hierarchy of Needs) เป็นเรื่องแรงจูงใจที่แบ่งความต้องการของมนุษย์ตั้งแต่ความต้องการด้านกายภาพ ความต้องการด้านความปลอดภัย ความต้องการด้านสังคม ความต้องการด้านการเคารพนับถือ และประการสุดท้าย คือ การบรรลุศักยภาพของตนเอง (Self-actualization) คือการค้นหาโอกาสที่ได้พัฒนาตนเองถึงขั้นสูงสุดจากการทำงาน แต่ความต้องการเหล่านั้นต้องได้รับการสนองตอบตามลำดับขั้น ได้อย่างสมดุล และตรงตามหลักการบริหาร
3.6  
ทฤษฎีระบบ (Systems Theory) ระบบในด้านการบริหาร หมายถึง องค์ประกอบหรือปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันและมีส่วนกระทบต่อปัจจัยระหว่างกันในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ องค์ประกอบพื้นฐานของระบบ แสดงความสำคัญในฐานะองค์ประกอบของระบบหรือปัจจัยแวดล้อมในลักษณะเหตุและผล (Causes and Effects) ด้วยความสัมพันธ์แบบองค์รวม (Von Bertalanffy, 1973 as cited in Hammond, 2019, p. 305) นอกจากนี้ Kast and Rozenweig (Kast and Rozenweig, 1972 as cited in Thomas and Murphy, 2020, p. 18) ได้นำเสนอการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของระบบให้สามารถทำความเข้าใจได้จากการประเมินหรือพัฒนาระบบ ประกอบด้วย (1) ปัจจัยนำเข้า (Input) (2) กระบวนการ (Process) (3) ผลผลิต (Output) และ (4) ผลกระทบ (Impact) ส่วนองค์การที่อธิบายความเป็นระบบ เช่น The Development Assistance Committee Working Party on Aid Evaluation (2002) อธิบายวิธีการระบบเป็นวิธีการใช้ตรรกศาสตร์ วิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุผล มีความสัมพันธ์ไปตามขั้นตอนช่วยให้กระบวนการทั้งหลายดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสามารถช่วยให้การบริหารบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องไม่ลำเอียง
3.7   
ทฤษฎีการบริหารของ McGregor (McGregor, 1960 as cited in Schein, 2011, p. 157) คือ ทฤษฎี X ทฤษฎี Y ได้เสนอแนวคิดการบริหารอยู่บนพื้นฐานของข้อสมมติฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต่างกัน สำหรับทฤษฎี X (The Traditional View of Direction and Control) ทฤษฎีนี้มีข้อสมมติฐาน คือ (1) คนไม่อยากทำงาน และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ (2) คนไม่ทะเยอทะยาน และไม่คิดริเริ่ม ชอบให้สั่งการ (3) คนเห็นแก่ตนเองมากกว่าองค์การ (4) คนต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และ (5) คนมักโง่ และหลอกง่าย กล่าวคือ ผลการพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้ การบริหารจัดการจึงเน้นการใช้เงิน วัตถุ เป็นเครื่องล่อใจ เน้นการควบคุม การสั่งการ เป็นต้น ในขณะที่ทฤษฎี Y (The Integration of Individual and Organization Goal) ทฤษฎีนี้มีข้อสมมติฐาน คือ (1) คนจะให้ความร่วมมือสนับสนุน รับผิดชอบ ขยัน (2) คนไม่เกียจคร้านและไว้วางใจได้ (3) คนมีความคิดริเริ่มทำงานถ้าได้รับการจูงใจอย่างถูกต้อง ถูกวิธีการ (4) คนจะพัฒนาวิธีการทำงาน และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ผู้บังคับบัญชาจะไม่ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเข้มงวด แต่จะส่งเสริมให้รู้จักควบคุมตนเองหรือกลุ่มมากขึ้น ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันจากความเชื่อที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดระบบการบริหารที่แตกต่างกันระหว่างระบบที่เน้นการควบคุมกับระบบที่ค่อนข้างให้อิสระภาพ
3.8   ทฤษฎีของ Ouchi (Ouchi, 1990 as cited in Ouchi, et al., 2002, p. 175) ชาวญี่ปุ่น เป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย UCLA (University of California Los Angeles) ได้เสนอ ทฤษฎี Z (Z Theory) ทฤษฎีนี้ได้รวมหลักการของทฤษฎี X กับทฤษฎี Y เข้าไว้ด้วยกัน แนวความคิดก็คือ องค์การต้องมีหลักเกณฑ์ที่ควบคุมมนุษย์ แต่มนุษย์ก็รักความเป็นอิสระ และยังแสดงความต้องการหลากหลาย ดังนั้นหน้าที่ของผู้บริหารจึงต้องปรับเป้าหมายขององค์การให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบุคคลในองค์การนั้นประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 4 ประการคือ (1) การทำให้ปรัชญาขององค์การที่กำหนดไว้บรรลุผล (2) การพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) การให้ความไว้วางใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และ (4) การให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

สรุปทฤษฎีที่เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา ได้ว่า ทฤษฎีการบริหารการศึกษานำเสนอหลักการบริหาร หรือประยุกต์จากทฤษฎีทางธุรกิจ อุตสาหกรรม การบริหารองค์การ และพฤติกรรมของบุคลในองค์การ ทฤษฎีดังกล่าวอาจจัดจำแนกได้ตามนักคิดที่สำคัญ ได้แก่  (1) Follett และ Mayo ที่เป็นต้นแบบของการศึกษาเรื่อง Employee Motivation หรือ Theory of Motivation สาระสำคัญเรื่องการตอบสนองคนที่ต้องการศักดิ์ศรี และการยกย่อง (2) ทฤษฎีของ Barnard (3) ทฤษฎีของ Maslow (4) ทฤษฎีระบบ ของ Kast and Rozenweig (5) ทฤษฎี X ทฤษฎี Y ของ Greger และ (6) ทฤษฎี Z ของ Ouchi สำหรับการบริหารการศึกษาที่แสดงพัฒนาการทั้งศาสตร์และศิลป์ของผู้บริหารโดยใช้พื้นฐานจากทฤษฎีจึงเป็นฐานด้วยการปฏิบัติให้สำเร็จผลจากศักยภาพของนักบริหารการศึกษาที่สำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับนวัตกรรมในการบริหารงานเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จที่นำมาใช้ในการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่งก็คือ การบริหารงานด้วยวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (PDCA) กล่าวคือ วงจรคุณภาพเป็นทั้งปรัชญา นวัตกรรม ต้นธารภูมิปัญญา หรือเป็นศาสตร์ใหญ่ของวงจรการบริหาร ทั้งนี้เครื่องมือการบริหารงานที่มีอยู่จำนวนมากนั้นล้วนมีแก่นร่วมกันที่สำคัญบนฐานคิดเดียวกันคือวงจรคุณภาพ (สุขสันต์ สุขสงคราม, 2564, หน้า 39) จึงขอกล่าวถึงหลักการบริหารงานคุณภาพพอสังเขป ดังนี้

หลักการบริหารงานคุณภาพตามวงจรของเดมมิ่ง (Deming Cycle) ได้เผยแพร่อย่างกว้างขวางในปี ค.ศ. 1950 โดย Edwards W. Deming  (Deming, 1951 as cited in Moen and Norman, 2009, p.6; Gupta, 2006, pp. 45-47) กำหนดหลักการของวงจรเป็น 4 ขั้นตอนหลัก  ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การวางแผน (Plan: P) คือ การกำหนดเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ในการดำเนินการ วิธีการและขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย วิสัยทัศน์ขององค์การเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาทั่วทั้งองค์การให้เป็นมาตรฐานของวิธีการทำงาน ช่วยให้ผู้บริหารรับรู้สภาพที่เป็นไปของสถานการณ์จากประสบการณ์ ความรู้ และทักษะที่สั่งสมมา ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติตามแผน (Do: D) คือ การปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ การปฏิบัติจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูล และเงื่อนไขต่าง ๆ ของสภาพงานให้ถ่องแท้ก่อน สำหรับงานประจำหรืองานเล็กใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ในขณะที่งานใหม่หรืองานใหญ่ใช้คนจำนวนมากอาจต้องจัดให้มีการฝึกอบรม ก่อนที่จะปฏิบัติงานจริง โดยต้องดำเนินการตามแผน วิธีการ และขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจึงต้องมีความฉลาดและมองเป้าหมายขององค์การว่าจะมีแนวโน้มไปในทางไหน ทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานต้องมีการตั้งเจตนาที่ดีในการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่เสมอ

ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบการปฏิบัติงาน (Check: C) คือ การประเมินการทำงานตามแผนที่ได้กำหนดไว้ การทำงานอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่ทำให้การทำงาน อาจดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนได้อยู่เสมอ เช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำงาน การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำควบคู่ไปกับการดำเนินงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการคุณภาพของการดำเนินงาน โดยการดำเนินการอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นตามลำดับอย่างสม่ำเสมอ และขั้นตอนที่ 4 การแก้ปัญหา (ยอมรับ/ปรับแก้ไข) (Act: A) คือ ขั้นการยอมรับ พร้อมปรับแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบแล้ว อาจทำแบบเร่งด่วน เฉพาะหน้า หรือการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แล้วหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ การปรับปรุงที่นำไปสู่กระบวนการกำหนดมาตรฐานของวิธีการทำงานใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อความสร้างสรรค์และก้าวหน้าขององค์การ ทั้งนี้การดำเนินงานตามรอบวงจร PDCA ใหม่ข้อมูลที่ได้จากการปรับปรุงจะช่วยทำให้การวางแผนมีความสมบูรณ์และมีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย (ณัฏฐ์ณพัชร์ อ่อนตาม, 2562, หน้า 39-45)

อีกทั้งยังพบว่าการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาร่วมด้วยก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาอาจารย์ อีกทั้งเอื้ออำนวยให้ผู้บริหารสามารถควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทรัพยากรคือสิ่งสำคัญในการบริหารเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานและยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะช่วยให้องค์การมีคุณภาพ มีระบบการบริหารที่ทันสมัย อิสระและคล่องตัว (อัมพร พรมมี และศันสนีย์ จะสุวรรณ, 2564, หน้า 1171; อลงกต สารกาล, พุทธิพร พลอยผักแว่น และ บารมี วรรณพงศ์เจริญ, 2565, หน้า 34-45) จึงนำเสนอบทสรุปของการจัดการทรัพยากรในการบริหาร (4Ms) ขอสังเขปดังนี้

หลักคิด POWER GAMES เป็น ทฤษฎีบริหาร 4Ms ในทรรศนะทฤษฏีการบริหาร ของPeter F. Drucker (Drucker, 1973 as cited in Kurzynski, 2009, pp. 359-369; ) โดยสรุปจากผลงาน Management Tasks; Management Responsibility ได้แก่ (1) คน (Man) คือ บุคลากรทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สุด ด้วยการทำงานหรือดำเนินการใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยคน ทั้งในด้านความคิด การวางแผน การดำเนินการ หรือจัดการทำให้เกิดการผลิตหรือกิจกรรมขององค์การตามพันธกิจ หรือการพิจารณาแหล่งทุน งบประมาณ วัสดุ และวิธีการที่จะใช้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน คนต้องมีการพัฒนาด้านความรู้ ทักษะลักษณะของบุคคลด้วยการบริหารกำลังคน และวางแผนการใช้คนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อีกส่วนของทรัพยากรหลัก (Drucker, 1973, pp. 3-4) (2) เงินทุนหรืองบประมาณ (Money) คือ เงินหรือทุน ที่ใช้ในการดำเนินงานทั้งจากเงินทุนภายในและภายนอก ในการทำงานเงินทุนถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอีกเช่นกัน เพราะการทำงานในองค์การทุกอย่างไม่สามารถดำเนินไปได้ดีหากขาดเงินทุน เมื่อทำธุรกิจหรืองานทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเงินทุน เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปได้ทั้งในด้านค่าจ้างแรงงานคน ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุมาใช้ในการทำงาน การมุ่งเป้าไปที่การบริหารเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามหลักการบริหารงานในการดำเนินธุรกิจ หรือองค์การ (Drucker, 1973, p. 106)

(3) วัสดุ อุปกรณ์ (Materials) คือ วัสดุ สิ่งของ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ บริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีส่วนนำมาใช้ในการทำงาน ผลิตสินค้าหรือบริการ เป็นสิ่งที่สำคัญลำดับต่อมา เพราะทุกการทำงานขององค์การต้องอาศัยสิ่งที่ได้ในกลุ่มนี้มาใช้เป็นทรัพยากรในการทำงานหรือการผลิต ดังนั้นต้องรู้จักบริหารจัดการวัสดุ หรือวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพ ปริมาณเพียงพอในการทำงานหรือการผลิต บริหารจัดการให้ได้ต้นทุนที่ต่ำในการทำงานหรือการผลิต การบริหารวัสดุ ในการดำเนินงานว่าทำอย่างไรให้สิ้นเปลืองทรัพยากรในการผลิตให้น้อยที่สุด หรือการใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด (Drucker, 1973, p. 106)  (4) การจัดการ (Management) หรือ วิธีการ (Method) คือ วิธีการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันขององค์การ ซึ่งประกอบด้วยการวางแผน การจัดการองค์การ การสรรหาบุคลากร การนำหรือสั่งการ และการควบคุมองค์การหรือความพยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ ให้สามารถทำงานทั้งหมดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างดีเยี่ยม (Drucker, 1973, p. 5)

สรุป “การบริหาร” คือ การดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามพันธกิจขององค์การ โดยใช้ทรัพยากรการบริหาร คือ คน เงิน วัตถุ สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรเป็นปัจจัยในการบฏิบัติงานด้วยวิธีการที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดคุณภาพอย่างเนื่อง และได้มาตรฐาน

กล่าวได้ว่า การบริหารมหาวิทยาลัยเป็นการบริหารทางการศึกษาที่ได้ประยุกต์ทฤษฎีและแนวคิดการบริหารการศึกษาไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยให้ความสำคัญการบริหารอย่างน้อย 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารงานวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป ในการวิจัยนี้จะนำเสนอการประยุกต์ทฤษฎีและแนวคิดที่มุ่งเน้นการบริหารตามระบบคุณภาพ เช่น ทฤษฎีระบบ หลักการบริหารด้วยวงจรคุณภาพ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ร่วมกับการจัดการทรัพยากรในการบริหาร 4Ms (Man-Money-Material-Method) ที่สร้างประสิทธิภาพการทำงานให้บรรลุเป้าหมายในการบริหารการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาการทำงานของอาจารย์ได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แสดงผลลัพธ์ได้เชิงประจักษ์



XXXXXXXXXXXXX


Address:

Asst.Prof.Phorramatpanyaprat Tongprasong, PhD, FHEA
Suan Dusit University,

295 Nakhonratchasima RD., Dusit,
Dusit, BKK, Thailand 10300.
TEL. +6622445748


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรมัตถ์ปัญปรัชญ์ ต้องประสงค์
กศ.ด. (การบริหารการศึกษา)
อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร
บริหารธุรกิจบัณฑิต
สาขาวิชาธุรกิจสร้างสรรค์และเทคโนโลยีดิจิทัล

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เลขที่ 295 ถนนนครราชสีมา
แขวงดุสิต เขตดุสิต
กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02 244 5748


https://musterverse.dusit.ac.th/

อีเมล
phorramatpanypaprat_ton@dusit.ac.th
phorramatpanyaprat@gmail.com
/////
LINE OA @mustland เพิ่มเพื่อน
 
 

Visit counter For Websites